22 ก.พ 2551 วันที่สอง ข้ามไปเทียวเวียงจันทน์ เย็นๆไปเดินเล่นตลาดท่าเสด็จ 6โมงเช้า ตื่นนอน ขับรถไปเที่ยวตลาด ระหว่างทางผ่านเห็นบรรยากาศข้างทางกับภาพผู้คนมารวมกลุ่มกันรอใส่บาตรข้าวเหนียว ซึ่งจะมีพระสงฆ์เดินเรียงแถวรับบาตรอย่างสวยงาม
จากนั้นไปถึง
ที่หมายคือตลาดโพธิ์ชัย ตลาดสดและตลาดของกิน ตลาดนี้หาไม่ยาก ตั้งอยู่ติดกับวัดหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บ้านคู่เมืองชาวหนองคาย
มื้อเช้าฟาดไข่กะทะในตลาด(เจ้าธรรมดา ไม่ใช่ร้านแนะนำ) กินกาแฟโบราณเสริฟพร้อมปาท่องโก๋ กินอาหารญวณหรืออาหารเวียดนาม รวมทั้งมีข้าวเปียกขนมเหนียว ปอเปี๊ยะ ก๋วยจั๊บ
ต้มเส้น หมูยอ แหนมเนืองและอื่นๆ อีกมากมาย หากินได้ตามอำเภอใจเด้อพี่น้องเด้อ
8โมงเช้าคุณอ๋อมารับที่โรงแรม
ไปส่งที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ได้คุณอ๋อผู้ใจดีอีกครั้งที่จัดหารถตู้พร้อมคนขับชาวลาว เที่ยวเวียงจันทน์ครบทริป ในราคาพิเศษสุด 1200 บาท
การข้ามไปลาวก็ไม่ยุ่งยาก กรอกเอกสารข้ามแดน ประทับตรา จ่ายเงินซื้อตั่วรถเมล์ข้ามสะพานคนละ20บาท ถึงฝั่งลาวก็ตรวจเอกสารประทับตราขาเข้า ... ไม่เคร่งครัดมากมายเหมือนเข้าออกญี่ปุ่น
เรานัดแนะและได้เจอคนขับรถตู้พร้อมเป็นไก๊ด์นำเที่ยวเสร็จสรรพ เขาแนะนำตัวเองชื่อว่า " ยาว " หลังๆเราเรียกเขาว่าคุณยาวบ้าง ท้าวยาวบ้าง ท้าวยาวนะไม่ใช่เท้ายาว 55+
ปล. ท้าวคือชื่อนำหน้าของผู้ชายลาว นางคือชื่อนำหน้าของผู้หญิง ผู้หญิงลาวไม่ว่าจะแต่งงานแล้วหรือยังไม่แต่ง จะใช้คำว่านางนำหน้าเหมือนกันหมด
ส่วนจะดูว่าใครแต่งงานแล้วหรือยัง ให้ดูที่หลังบัตรประชาชน ถ้าแต่งงานแล้วจะมีชื่อสามีอยู่ด้านหลังบัตรประชาชน
รถตู้ที่เราเช่าเคลื่อนตัวไปตามถนนท่าเดื่อได้ประมาณ 10 กิโลเมตร ก็เลี้ยวเข้าเส้นทางหมายเลข 13 ใต้
เข้าสู่นครเวียงจันทน์ เราใช้เวลาเดินทางประมาณสามสิบกว่านาทีก็มาถึง..
จุดหมายแรก วัดพระธาตุหลวง ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้สร้างนครเวียงจันทน์ ด้านหลังเป็นองค์พระธาตุหลวงที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่ใหญ่ที่สุดของลาว กล่าวคือมีความสูงถึง 45 เมตร สร้างขึ้น ค.ศ.1566 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ประตูด้านหน้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงสละราชสมบัติส่วนพระองค์ จัดสร้างให้ ด้านในมีพระชัยพุทธมหานาค ประดิษฐานอยู่ พระชัยพุทธมหานาคนี้ มีรูปลักษณะคล้ายกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เราใช้เวลาเดินชมพระธาตุหลวงประมาณ 90 นาที (30 นาทีชมพระธาตุ, ส่วนอีก 60นาที เดินช็อปปิ้งร้านรวงที่ขายหน้าวัดพระธาตุ 55+)
ได้มู่ลี่ เสื้อสกีนภาษาลาวกับเขยลาวมาอย่างละ1ตัว
10.00 น. ท้าวยาวพาเราไปยัง
จุดหมายที่2 คือ ประตูชัย ประตูชัยเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานศิลปะล้านช้างกับฝรั่งเศสเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน มีความสูงเท่ากับตึก 7 ชั้น ด้านหน้าเป็นน้ำพุ ซึ่งจะเปิดน้ำพุเฉพาะวันสำคัญ พวกเราหยุดถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันก่อน จากนั้นจึงไปเสียตังค์ค่าขึ้นคนละ 5600 กีบ เดินขึ้นบันไดซึ่งมี 197 ขั้น เพื่อขึ้นไปชมเมืองเวียงจันทน์ จากบนสุดของประตูชัย เมื่อทอดสายตาออกไปจะแลเห็นแม่น้ำโขงไหลตัดแผ่นดินออกเป็นสองฝั่ง
11.00 น. เรานั่งรถไปยัง
จุดหมายที่3 คือ วัดหอพระแก้ว ประวัติเล่าว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชในปี ค.ศ. 1565(พ.ศ.2108) และทำการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ.1936 (พ.ศ.2479)วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตนานกว่า 200 ปี ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุล้ำค่า มีพระพุทธรูปที่ดวงเนตรประดับด้วยอัญมณี ซึ่งส่วนใหญ่ถูก แกะออกไป ยังมีเหลือบางองค์ที่ยังคงอยู่
เราได้แต่เดินชมอย่างเดียวเพราะทุกวัดในลาวภายในตัวอุโบสถหรือวิหาร จะห้ามไม่ให้ถ่ายรูป ... จากนั้นเราก็ไปชมไหขุดโบราณที่ทำจากหิน มีไก๊ดไทยหรือลาวไม่แน่ใจท่านนึงซึ่งกำลังอธิบายให้คนฝรั่ง ได้ยินว่า
ไหหินอันนี้ขุดพบและตรวจสอบว่ามีอายุปนะมาณ 3000 กว่าปี โอ้โหหหหหหหหหหหโห อายุเท่าๆป้าหวานของพวกเราเลย 55+
11.30 เราเดินไปยังจุดหมายที่4 คือวัดสีสะเกด ที่อยู่ใกล้ๆตรงกันข้ามกับหอพระแก้ว ... ขณะกำลังซื้อตั๋ว เจ้าหน้าที่ลาวบอกว่า ไหว้เร็วๆเด้อจะพักเที่ยง วัดจะปิด ... ทราบภายหลังว่าสถานที่ทุกแห่งของรัฐจะหยุด พนง.ข้าราชการจะทำงานและพักตามเวลาราชการเป๊ะๆ
วัดสีสะเกดตั้งอยู่บริเวณถนนเชษฐาธิราช ในแพงนครเวียงจันทน์ ภายในวัดสีสะเกด มีหอพระไตรปิฎก ประวัติเล่าว่าสร้างขึ้นโดยเจ้าอนุวงศ์ ในปี ค.ศ.1818 และได้รับการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 1936 หอพระไตรปิฎกแห่งนี้มีรูปทรงคล้ายศิลปะล้านนาและล้านช้าง หลังคาทำเป็นชั้นๆลดหลั่นกันลงมา ส่วนตัววิหารใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดทั้ง 4 ด้าน ภายในวิหารและระเบียงคด ทำเป็นช่องๆเพื่อประดิษฐานพระขนาดเล็กไว้ 2 องค์ ซึ่งมีทั้งหมด 6,840 องค์ เฉพาะในวิหารมี 2,500 องค์ บางช่องเหลือเพียงองค์เดียวเพราะสูญหายไป การที่แต่ละช่องประดิษฐานพระไว้เป็นคู่ๆ เพราะถือว่าทุกคนต้องมีคู่ และจากความคิดนี้เองทำให้เชื่อกันว่าหากใครที่ไม่มีคู่สามารถมาบ่นบานศาลกล่าวเพื่อขอคู่ได้
ลักษณะรูปทรงของตัววิหารและการตกแต่งภายใน จะคล้ายโบสถ์ของไทยในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์ ขณะที่ยังทรงพระเยาว์ ได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ครั้นเมื่อกลับไปปกครองประเทศลาว วัดที่พระองค์สร้างขึ้นจึงมีความคล้ายคลึงกับวัดของไทย
12.00 ท้าวยาวไก๊ดและคนขับรถของเรา พาไปส่งที่
จุดหมายที่5 ตลาดซ้าวหรือตลาดเช้า ให้เราหากินข้าวกลางวัน/ช๊อปปิ้ง และนัดเจอกันอีกครั้งตอนบ่ายโมงครึ่ง
ตลาดเช้า ถ้าเป็นตึกใหม่ช๊อปปิ้งมอลล์ก็คล้ายๆห้างสรรพสินค้าบ้านเรา ไม่หรูถึงกับมาบุญครองแต่ประมาณห้างบางลำภูได้มั๊ง ในตลาดเช้าช๊อปปิ้งมอลล์ตึก3ชั้นนี้มีสินค้าที่มีทั้งเครื่องนุ่งห่ม
กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา เครื่องประดับทอง นาค เงิน และของใช้นานาชนิด ที่เป็นของลาวเอง หรือที่มาจากจีน เวียดนาม ไทย และฝรั่ง ตาดีได้ตาร้ายเสีย ต่อรองราคากันเอง ..
แต่จากการที่ได้สำรวจมา ก็แพงหรือราคาเท่าเมืองไทย งั้นกลับมาซื้ออบ้านเราดีกว่า อีกอย่างคุณท้าวยาวเคยบอกเราว่าไว้ซื้อตรง duty free ก่อนนกลับจะได้ของถูกกว่า
ปล. การซื้อสินค้าใน สปป.ลาว จะต้องบอกกับแม่ค้าว่าจะซื้อสินค้าชนิดไหน อย่าบอกว่าซื้อของ( เพราะถ้าบอกว่าซื้อของหมายถึงขอซื้อของลับของแม่ค้า ) เราแวะขึ้นไปกินข้าวที่ฟู๊ดเซ็นเตอร์ชั้น3 .. สั่งก๋วยเตี๊ยวประมาณว่าขนมจีนแกงกะทิของลาวมั๊ง ..เจอเข้าไปชามละ 15000 กีบ เงินไทยก็ราวๆ 55 บาท
13.30-15.30 น. เดินทางออกจากตลาดเช้า อำลาเวียงจันทน์ ตรงกลับไปยังท่านาแล้ง ก่อนกลับฝั่งไทยก็แวะไปยัง..
จุดหมายที่6 จุดหมายสุดท้ายฝั่งลาวที่ร้านปลอดภาษี ท้าวยาวบอกเราว่าถ้าซื้อพวกเหล้า สุรา ไวน์ น้ำหอมให้ซื้อร้านตึกใหญ่ๆ2-3ร้านด้านหน้า เช่นร้านดาวเฮือง เพราะจะได้ของแท้และราคาปลอดภาษีถูกกว่าร้านอื่นๆ .. พวกเราซื้ออะไรกลับมาได้มากพอสมควร
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
16.30 น.- 18.00 น. เราข้ามกลับมายังฝั่งไทย พอตรวจคนเข้าเมือง ทุกอย่างผ่านฉลุยไม่มีการโดนยึดของฝาก เราก็มุ่งตรงไปช๊อปปิ้งต่อที่
ตลาดท่าเสด็จ ..
เดินในตลาดท่าเสด็จ ร้านค้าเยอะมาก แต่เท่าที่ดูมา ของก็ซ้ำกันเหมือนกันเกือบทุกร้าน ไมว่าจะเสิ้อผ้า กระเป๋า แหนม หมูยอ ไส้กรอก เครื่องเงิน ...
ถามว่าประทับใจมั๊ย .. ตอบได้ว่าเฉยๆ ..เหมือนเดินตลาดประตูน้ำ / สำเพ็ง พาหุรัด ..
เอาไว้ให้เจ้าคิงคอง88 พาเดินช๊อปปิ้งประตูน้ำบ้านเราก็ได้ 55+
19.00 - ~ น. .. มื้อเย็นของการเดินทางวันที่สอง เราโทรฯไปถามคุณอ๋อถามร้านอาหารพื้นเมืองแนะนำ ได้
ร้านอาหารแนะนำชื่อร้าน " ทองธาร " .. ร้านนี้ไม่ใหญ่โต สังเกตุได้มีเก้าอี้สีขาวตั้งเรียงรายอยู่หลายตัวหน้าร้าน
ถ้ามาจากสายบายพาสหน้าวัดองค์พระใส ให้ขับเลยวัดตรงไปไปเจอซอยที่สอง ให้เลี๊ยวซ้ายลงไป จะขับไปเจอถนนสายใน ให้เลี๊ยวซ้ายอีกที ขับไปเรื่อยๆจะเจอร้านอยู่ซ้ายมือ หรือถามคนแถวนั้นก็ได้
อาหารแนะนำ ที่ผมชอบมากๆทานแล้วไม่ผิดหวังคือลาบปลา ปลาเนื้ออ่อนทอดกรอบ แหนมซี่โครงทอด และอ่อมปลาเมนูเหมือนเมื่อคืน

จบการเดินทางของวันที่สอง เข้านอนพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวตื่นแต่เช้า ไปไหว้องค์พระใสก่อนจากหนองคาย เพื่อจะเดินทางไปสกลนคร นครพนมในวันรุ่งขึ้น