จับเท็จ ปตท. กรณี ?นำเข้าก๊าซหุงต้ม?
โดย ประสาท มีแต้ม.
1. ประเด็นปัญหา
ขณะนี้ บริษัท ปตท. ได้บอกกับประชาชนว่าก๊าซหุงต้มหรือที่เรียกกันในวงการว่าก๊าซแอลพีจี (Liquefied petroleum gas) ในประเทศไทยกำลังขาดแคลน และได้แนะนำให้รัฐบาลขึ้นราคาก๊าซชนิดนี้ โดยเฉพาะที่ใช้กับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์แท็กซี่ (นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บมจ. ปตท. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Hard Topic ทาง Money Channel , 7 กรกฎาคม 2551)
นอกจากนี้นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.กล่าวว่า ?ความต้องการใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้ต้องนำเข้าแอลพีจี 4 แสนตัน? (ไทยรัฐ 11 กรกฎาคม 2551)
ประเด็นสำคัญนอกเหนือจากการแนะให้ขึ้นราคาแล้วยังมี
อีก 2 ประเด็น คือ
(1) นายณัฐชาติบอกว่า จากความต้องการใช้ก๊าซ LPG ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยต้องเปลี่ยนสถานะจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกก๊าซแอลพีจี เปลี่ยนเป็นผู้นำเข้าแทน โดยในเดือน เม.ย. 2551 ไทยนำเข้าก๊าซแอลพีจี กว่า 2 หมื่นตัน ขณะที่เดือน ก.ค. 2551 ไทยนำเข้าก๊าซแอลพีจี แล้ว 2.2 หมื่นตัน และในช่วงปลายเดือนนี้ ไทยอาจจะต้องนำเข้าอีก 2.2 หมื่นตัน
(2) นายณัฐชาติกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก็จะมีผลให้ราคาก๊าซแอลพีจี ในตลาดโลกพุ่งขึ้นถึง 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งหากไทยยังนำเข้าก๊าซแอลพีจี ในระดับสูง ก็จะทำให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระมากขึ้น จึงเห็นว่า รัฐควรจะปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี หน้าโรงกลั่นใหม่ เพื่อลดภาระในการชดเชยราคาก๊าซแอลพีจี
ทั้งนี้ ในกรณีที่ภาครัฐลอยตัวราคาก๊าซ LPG จะมีผลราคาก๊าซแอลพีจี ในภาคครัวเรือนปรับขึ้นจาก 18.13 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ 25 - 30 บาทต่อกิโลกรัม
บทความนี้ได้ทำการตรวจสอบเนื้อหาสำคัญใน 2 ประเด็นดังกล่าว พบว่า ในประเด็นแรกไม่เป็นความจริง สำหรับประเด็นที่สองพบว่าทาง ปตท. ให้ข้อมูลไม่ครบทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ แต่ก่อนจะตรวจสอบ ขอทำความเข้าใจในความรู้พื้นฐานของปัญหานี้ก่อนครับ
2. ความรู้พื้นฐานของปัญหา
อันทีจริงชื่อของก๊าซหุงต้ม (หรือ แอลพีจี) ได้สร้างความสับสนให้กับคนทั่วไปมากทีเดียว เราค่อยๆ มาทำความเข้าใจกันใหม่ ดังนี้ครับ
ในระยะแรก ทั้งๆ ที่คนทั่วไปรู้จักก๊าซชนิดนี้ว่าคือ ?ก๊าซหุงต้ม? แต่ได้มีการนำก๊าซชนิดนี้ไปใช้ในสี่ภาคส่วนใหญ่ๆคือ (1) ใช้หุงต้มทั้งในครัวเรือนและร้านอาหารแผงลอย (2) ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น ใช้ตัดโลหะ ทำระบบทำความเย็น เป็นต้น (3) ใช้ในรถโดยสารแท็กซี่โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรณีนี้มีการใช้มานานกว่า 20 ปีแล้ว และ (4) ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในภาคอุตสาหกรรม
แต่ในระยะหลัง เมื่อราคาน้ำมันได้ทะยานสูงขึ้น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เคยใช้น้ำมันเบนซินก็หันมาติดตั้งก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงแทน และในช่วง 10 ปีมานี้ ทางกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมให้ทั้งรถยนต์แท็กซี่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถประจำทาง หันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี (NGV- Natural Gas for Vehicle) ทีนี้แหละความสับสนยิ่งมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ เพราะได้มีชื่อก๊าซชนิดใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก
3. แหล่งที่มาของก๊าซทั้งสองชนิด
การผลิตก๊าซหุงต้มในประเทศไทย มาจาก 3 แหล่ง คือ (1) มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยมีทั้งหมดจำนวน 7 โรง ในจำนวนนี้ 5 โรง (แต่โรงใหญ่ๆ ทั้งนั้น) เป็นของบริษัท ปตท. จำกัด (2) มาจากโรงแยกก๊าซซึ่งในประเทศไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่ 5 โรง 4 โรงแรกเป็นของ ปตท. ในขณะที่โรงที่ 5 อยู่ที่ อ. จะนะ จ. สงขลาเป็นการร่วมทุนระหว่างไทย-มาเลเซีย ซึ่งก๊าซจากโรงแยกนี้(เกือบ)ทั้งหมดถูกส่งไปใช้ในประเทศมาเลเซียเท่านั้น และ (3) มาจากคอนเดนเสตที่เป็นของเหลวได้จากการขุดเจาะก๊าซในทะเล คอนเดนเสตจะเป็นของเหลวถูกบรรทุกใส่เรือ ไปผ่านกระบวนการผลิตต่อไปจนได้ก๊าซหุงต้มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่จะไปผ่านกระบวนการที่ใดบ้าง ผมไม่ทราบชัดเจนนัก
สำหรับก๊าซเอ็นจีวี เกิดจากโรงแยกก๊าซที่เป็นของ ปตท. ทั้ง 4 โรง
โดยสรุปก๊าซหุงต้มเกือบทั้งหมดอยู่ในกำมือของบริษัท ปตท. บริษัทอื่นๆมีส่วนร่วมบ้างแต่เป็นจำนวนน้อย ส่วนก๊าซเอ็นจีวีทั้ง 100% อยู่ในกำมือของบริษัท ปตท. แต่เพียงผู้เดียว
ในอดีต (นานกว่า 20 ปีแล้ว) ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกก๊าซหุงต้มตลอดมา จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ทำให้ทราบได้ว่า ในปี 2550 ประเทศไทยผลิตก๊าซหุงต้มได้ประมาณ 4.3 ล้านตัน มีการขายภายในประเทศ 3.7 ล้านตัน และส่งออก 0.3 ล้านตัน (ข้อสังเกต ไม่ทราบว่าก๊าซหายไปไหน 0.3 ล้านตัน หรือประมาณ 7% ของที่ผลิตได้ทั้งหมด)
กราฟข้างล่างนี้เป็นปริมาณการบริโภคก๊าซแอลพีจีในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ปี 2529 (1986) จนถึงปี 2550 (ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน)
ในอดีต รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยได้ให้การอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มตลอดมา ส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน จึงส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลนิยมติดตั้งก๊าซหุงต้มกันมาก
ขณะเดียวกัน ทางบริษัท ปตท. ก็ได้เร่งการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นจำนวนมากเกินไป ส่งผลให้ก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีที่ผลิตได้มีมากกว่าที่จำเป็นต้องใช้
เมื่อการผลิตมีมากกว่าการบริโภค (ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ร้อยละ 84 ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า) ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ?ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (Take or Pay)? เป็นจำนวนมาก
เมื่อเป็นดังนี้ทางรัฐบาลและ บริษัท ปตท. ก็คิดโครงการก๊าซเอ็นจีวีขึ้น เพื่อให้คนหันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทนการใช้น้ำมัน ก็ได้ส่งเสริมด้วยการติดตั้งก่อนผ่อนทีหลัง (คันละประมาณ 5 หมื่นบาท) และได้ควบคุมราคาเอ็นจีวีไว้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท แต่เนื่องจากปั๊มก๊าซเอ็นจีวีมีจำนวนน้อย ความนิยมจึงไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
รัฐบาลปัจจุบัน (สมัคร สุนทรเวช) มีโครงการรถประจำทางติดก๊าซเอ็นจีวีจำนวน 6 พันคันในกรุงเทพมหานคร ขณะนี้กำลังถูกกล่าวหาว่ามีการติดสินบนกันด้วย
สาเหตุที่จำนวนปั๊มเอ็นจีวีมีน้อย ก็เพราะการลงทุนในปั๊มนี้ค่อนข้างแพงมาก
เมื่อโครงการเอ็นจีวีไม่เป็นไปตามแผน ผู้คนก็แห่ไปติดตั้งก๊าซแอลพีจีแทน เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ถามว่าทางบริษัท ปตท. จะทำอย่างไรต่อไป ท่านผู้อ่านคงคาดได้
5. จับเท็จ ปตท.
ข้อแรกเรื่องการนำเข้าก๊าซหุงต้มกว่า 2 หมื่นตัน ในเดือนเมษายน 2551 จากข้อมูลของกรมศุลกากร พบว่า ทั้งเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2551 ไม่ได้มีการนำเข้าก๊าซหุงต้มเลย ดังแผนภาพประกอบข้างล่างนี้
นอกจากนี้ ข้อมูลของกระทรวงพลังงานซึ่งดูแลข้อมูลพลังงานอยู่ ก็ไม่พบว่าได้มีการนำเข้าแต่อย่างใด
ท่านอาจจะคิดว่า ข้อมูลของกรมศุลกากรยังไม่ทันสมัยมั้ง คือยังไม่ update แต่เราก็พบว่าในส่วนของการส่งออกได้มีการปรับเปลี่ยนข้อมูลให้ทันสมัยจนถึงเดือนพฤษภาคมแล้ว นั่นคือ นอกจากจะไม่มีการนำเข้าตามคำบอกเล่าของผู้บริหาร ปตท. แล้ว ยังมีการส่งออกอีกต่างหาก ดังแผนภาพที่ถ่ายมาประกอบ
ทั้งๆ ที่ ทางบริษัท ปตท. อ้างว่าก๊าซแอลพีจีกำลังขาดแคลน แต่จากข้อมูลของกรมศุลกากรพบว่า มีการส่งออกก๊าซแอลพีจี ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงพฤษภาคม 2551 ทุกเดือน รวมทั้งสิ้น 19.7 ล้านกิโลกรัม หรือเกือบ 2 หมื่นตัน ในราคาที่ท่าเรือ (FOB) กิโลกรัมละ 25.82 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาจำหน่ายภายในประเทศ (กิโลกรัมละ 20 บาท) ถ้าคิดราคาส่งออกเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม ราคากิโลกรัมละ 27.73 บาท สูงกว่าราคาภายในประเทศตั้งเยอะ เมื่อราคาต่างกันมากเช่นนี้ ถามว่า ปตท. จะทำอย่างไร
สำหรับความเห็นของคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ?ปีนี้ต้องนำเข้าแอลพีจี 4 แสนตัน? เป็นที่สงสัยว่า คุณประเสริฐเอาตัวเลขนี้มาจากไหน เพราะตัวเลขนี้คิดเป็น 11% ของปริมาณที่มีการใช้ในปี 2550 ขณะนี้เวลาได้ล่วงเลยมา 5 เดือนแล้ว(ตามข้อมูลกรมศุลกากร) ยังไม่มีการนำเข้าตามที่ ปตท. อ้างเลย
สำหรับการจับเท็จในข้อที่สอง ที่ว่า ?นายณัฐชาติกล่าวว่า หากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก็จะมีผลให้ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกพุ่งขึ้นถึง 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน?
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ปกติราคาก๊าซหุงต้มจะขึ้นลงตามฤดูการ ถ้าในฤดูที่อากาศหนาวราคาก๊าซก็จะขึ้นสูง อากาศร้อนราคาก๊าซก็จะลดต่ำลงอย่างมาก
เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2550 ราคาก๊าซส่งออกต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม ราคาตันละ 382 ดอลลาร์ แต่ในเดือนธันวาคมขึ้นสูงถึง 623 ดอลลาร์ต่อตัน นั่นคือการขึ้นลงของราคาในระหว่างปีมีการแปรผันเกือบเท่าตัว
จริงอยู่ราคาน้ำมันดิบในปี 2550 อยู่ที่ประมาณ 50-89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 137 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และไม่มีใครทราบได้ว่า เมื่อไหร่จะถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และก๊าซหุงต้มจะขึ้นไปอีกเท่าใด แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การแปรผันระหว่างปีที่ราคาต่างกันเกือบเท่าตัว นี่เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน แต่จงใจให้ข้อมูลที่โน้มน้าวให้บริษัทได้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว
6. สรุป
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทาง บริษัท ปตท. ได้ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จกับประชาชน สมควรอย่างยิ่งที่การเมืองภาคประชาชนต้องร่วมมือกันตรวจสอบอย่างใกล้ชิดกันต่อไปและตลอดไป.