http://hilight.kapook.com/view/34811 รูปรถฝ่าไฟแดง ความแตก-มีกิ๊ก ผัวแอบซื้อเก๋งให้ "เมียหลวง"เลยรู้ (ข่าวสด)
กล้องเรดไลท์คาเมร่า ทำงานดีเกินคาด รองผบช.น.แถลงผลการใช้ 2 เดือนแรกจับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรไปแล้วกว่าแสนราย นอกจากนี้ยังตรวจจับพบรถสวมป้ายปลอม ส่งให้ศูนย์สืบ บช.น.ไปจัดการจับกุม ที่สำคัญพบว่าบางรายผ่อนรถให้เมียน้อยใช้แล้วไปขับรถฝ่าไฟแดง บ้านใหญ่รู้เพราะหมายเรียกส่งไปตามที่อยู่เจ้าของรถให้เสียค่าปรับ
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานจราจร กล่าวถึงการดำเนินการใช้ระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (เรดไลท์ คาเมร่า) ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.51 จนถึงวันนี้ผ่านมาเป็นระยะเวลา 2 เดือนเศษ แล้วมีการส่งหมายเรียกไป ประมาณ 1 แสนใบเศษ ปัญหาที่พบมีไม่มาก ปัญหาที่พบคือมีการปลอมป้ายทะเบียน ตรวจพบมีจำนวน 14 ราย ซึ่งเจ้าของรถจริงนำรถมาให้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่รถคันที่ฝ่าไฟแดง เราจะยกเลิกหมายเรียกนั้น แต่บางคันมาอ้างว่าไม่ใช่รถคันที่ฝ่าสัญญาณไฟจราจร เมื่อนำรถมาให้ตรวจพิสูจน์ก็พบว่าตรงกันกับรถคันที่ฝ่าไฟแดง เป็นหน้าที่ของเจ้าของรถคันนั้นต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าขณะที่ฝ่าไฟแดงนั้นไม่ได้อยู่ที่แยกดังกล่าว
พล.ต.ต.ภาณุ กล่าวต่อว่า มีกรณีของนายนคร ศรีบุศย์ดี ปลัดอำเภอศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ร้องเรียนสื่อว่ามีหมายเรียกจากตำรวจ กก.3 บก.จร. พร้อมรูปถ่ายการขับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงพบ พ.ต.ท.วิชาญ จันทศรี พนักงานสอบสวน เพื่อเสียค่าปรับภาย ในวันที่ 13 มี.ค.นี้ โดยระบุว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา เวลา 03.09 น. บริเวณแยกโชคชัย 4 ถนนลาดพร้าว แขวง-เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ซึ่งตนเป็นเจ้าของรถยนต์ทะเบียน ฉบ 797 กรุงเทพ มหานคร ในหมายเรียกไม่ระบุว่าเป็นรถยี่ห้ออะไร รายนี้เป็นหน้าที่เจ้าของรถที่จะต้องพิสูจน์ทราบอ้างถิ่นที่อยู่อ้างพยานว่าเวลานั้นอยู่ที่ใดกับใคร เท่าที่เราตรวจสอบดูรถของปลัดกับรูปภาพในหมายเรียกที่ถ่ายได้ฝ่าไฟแดงแยกโชคชัย 4 เป็นรถยี่ห้อเบนซ์ รุ่น 190 อี เหมือนกัน สีเดียวกัน ตำรวจเราก็จะตรวจสอบความเป็นไปได้ตามที่ปลัดอ้างในทางลับอีกทางหนึ่งด้วย มิฉะนั้นคนอื่นจะอ้างแบบนี้บ้าง
รอง ผบช.น. ยังกล่าวถึงการจัดส่งหมายเรียกไปถึงบ้านเจ้าของรถที่ฝ่าไฟแดง ขณะนี้ดำเนินการจัดส่งได้วันต่อวันแล้ว เมื่อรับหมายแล้วไม่รู้ว่าเสียค่าปรับเท่าไร เราก็ให้ลงค่าปรับ 500 บาทไว้ในหมายเรียกด้วย
"ในต่างประเทศใช้กล้องถ่ายภาพด้านตรงหน้ากระจกรถมองเห็นผู้ขับขี่เป็นใคร จะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ขับขี่ไม่ได้ แต่เกิดปัญหาฟ้องร้องกัน เพราะในภาพเห็นคนนั่งคู่คนขับมาด้วยว่าเป็นกิ๊กหรือตุ๊กตาหน้ารถ ทำให้ครอบครัวทะเลาะแตกแยก ฟ้องร้องกัน จึงแก้ไขโดยการทำภาพในหมายเรียกให้เบลอไม่รู้ว่าเป็นใคร ส่วนของไทยเราถ่ายภาพรถจากทางด้านหลัง แต่มีปัญหาเมื่อส่งหมายเรียกไปที่บ้านภรรยาเป็นคนรับ ไม่รู้ว่าสามีไปแอบผ่อนรถอีกคันให้ภรรยาน้อยอยู่ มา รู้ก็เมื่อมีหมายเรียกฝ่าไฟแดงส่งไปที่บ้านเพราะภรรยาน้อยขับรถไปฝ่าไฟแดงเข้า" พล.ต.ต.ภาณุ กล่าว
พล.ต.ต.ภาณุ กล่าวถึงกรณีมีคนร้องเรียนสื่อมวล ชน อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์พบมีปริมาณ 120 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่กฎหมายกำหนดต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงขึ้นขับรถแทนแล้วพาไปที่ สน. ระหว่างทางมีการเสนอต่อรองเงิน 2 หมื่นบาทเพื่อไม่ต้องดำเนินคดีส่งฟ้องศาล แต่ตำรวจไม่ยอมอ้างว่าต้องแบ่งให้นายใหญ่ในโรงพักนั้น จากข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อว่าจะเป็น สน.มักกะสัน โดยปกติจากด่านตรวจวัดระดับแอลกอ ฮอล์ไปยัง สน. ถ้ามีปริมาณเกินกฎหมายกำหนดจะไม่ให้ผู้ขับขี่เป็นคนขับรถไป สน. ถ้ามีคนอื่นไม่เมานั่งมาด้วยก็ให้ขับพาไป สน. แต่ถ้าไม่มีก็จะให้อาสาบ้าง หรือคนขับแท็กซี่เป็นคนขับพาไปส่งให้ที่ สน.เพื่อพบพนักงานสอบสวน ถ้าไม่มีจริงๆ ตำรวจก็จะเป็นคนขับไปส่งให้แทน เมื่อไปถึง สน.จะต้องควบคุมตัวผู้ขับขี่ที่เมาในห้องขัง รอส่งฟ้องศาลวันรุ่งขึ้น การที่ไปเบิกเงิน 2 หมื่นบาทอาจจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้เพราะการประกันตัวข้อหาเมาแล้วขับกำหนดไว้ 2 หมื่นบาท
ส่วนที่ระบุว่าด่านตรวจจับเมาคืนนั้นมีผู้ต้องหาถูกจับ 10 กว่าคน พอเช้าส่งฟ้องศาลเหลือเพียงแค่ 9 คนนั้น พล.ต.ต.ภาณุ กล่าวว่า สั่งให้ตรวจสอบย้อนหลังไปดูว่าวันใดมีการจับเมาเกิน 120 มิลลิกรัมเปอร์ เซ็นต์ ไม่พบเลย ไม่รู้ว่าเป็นวันใดแน่นอน สำหรับการร้องเรียนรายนี้เท่าที่ระบุไว้ สุดท้ายก็ถูกดำเนินคดีฟ้องศาล ตรวจสอบก็ไม่พบข้อมูล ตรวจสอบแล้วมองได้ว่าผู้ต้องหาพยายามยัดเยียดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อไม่มีใครเอาจึงมาแก้เกี้ยวว่าจับหลายคนแล้วทำไมฟ้องแค่ 9 คน ที่ด่านวัดเมามีการเรียกตรวจวัดหลายคนจริง แต่ถ้าใครไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เราก็ปล่อย ดำเนินคดีไม่ได้ คนที่เกินเราก็ส่งฟ้องศาล
พล.ต.ต.ภาณุ ยังกล่าวฝากว่า ผู้ขับขี่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ หากจำเป็นต้องไปดื่มในงานเลี้ยงต่างๆ ควรเรียกใช้รถสาธารณะ หรือแบ่งหน้าที่ให้คนไม่ดื่มเป็นคนขับ ถ้าดื่มแล้วเมื่อเจอด่านตรวจวัดก็ให้จอดปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่ง การปฏิเสธไม่เป่าเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ถือว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน จะถูกดำเนินคดีอีกข้อหาหนึ่ง ส่วนเครื่องวัดระดับจะเปลี่ยนที่สำหรับใช้ปากเป่าใหม่ทุกครั้ง เครื่องจะมีการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์ทุกๆ 6 เดือน จะมีใบกำกับการตรวจ หลอดเป่าเปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง ค่าที่อ่านได้จะเป็นหลักฐานในศาลรับฟังเพราะเครื่องมือเป็นมาตรฐาน การปฏิเสธการเป่าระยะหลังไม่ค่อยพบ ถ้าปฏิเสธจะถูกข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงาน สามารถสอบปากคำพยานใกล้เคียงประกอบสำนวนแทนการเป่าได้
รอง ผบช.น. กล่าวต่อว่า เมื่อเป่าเครื่องวัดระดับฯ แล้วพบว่าเกินกฎหมายกำหนด จะขับรถไป สน.เองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นที่ไม่เมาขับไปส่งพบพนักงานสอบสวนรับทราบข้อหาแล้วควบคุมตัวเพื่อส่งฟ้องศาล การจะออกจากห้องขังก็ต้องประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 2 หมื่นบาท คดีเมาแล้วขับทุกรายส่งฟ้องศาล ที่ผ่านมาศาลตัดสินปรับต่ำสุด 5,000 บาท คุมประพฤติ 2 ปีและสั่งให้บำเพ็ญประโยชน์ 24 ช.ม.
"โดยเฉลี่ยนครบาลจับเมาแล้วขับเดือนละ 1.2-1.3 พันรายต่อเดือน โดยสน.มักกะสัน มีโอกาสถูกร้องเรียนมากกว่าใครเพราะมีผลการจับกุมเมาแล้วขับเฉลี่ยเดือนละ 200 กว่าราย ในนครบาลทั้งหมดทุก สน. และบก.จร.ด้วย พบว่าสน.มักกะสันจับกุมข้อหาเมา แล้วขับได้สูงสุดทุกเดือน รองลงมาเป็นสน.สุทธิสารเพราะเป็นพื้นที่เส้นทางผ่านย่านแหล่งสถานบริการมาก คนเมาแล้วขับรถจะต้องเอาเต็มที่ อย่าไปรับฟังมาก น่าสงสารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่จับเมาเพราะ ถูกด่าถูกต่อว่ามากกว่าด่านอื่นๆ" พล.ต.ต.ภาณุ กล่าว