ราชบัณฑิตยสถานสำนักวิทยาศาสตร์ ชี้แจงอันตรายจากพิษปลาปักเป้า หลังพบพ่อค้าแม่ค้าหัวใสนำเนื้อจำหน่ายในท้องตลาด (4/10/2007)
ราชบัณฑิตยสถานสำนักวิทยาศาสตร์ ชี้แจงอันตรายจากพิษปลาปักเป้า หลังพบพ่อค้าแม่ค้าหัวใสนำเนื้อจำหน่ายในท้องตลาดอ้างเป็นเนื้อไก่ ทำให้ผู้บริโภคนำไปประกอบอาหารได้รับอันตรายจากพิษถึงชีวิตโดยไม่รู้ตัว
ศาสตราจารย์ ดร.ทศพร วงศ์รัตน์ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวิชาสัตววิทยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหัวใสนำเนื้อปลาปักเป้ามาแอบอ้างเป็นเนื้อไก่มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคและนำไปประกอบเป็นอาหารจนได้รับอันตรายจากพิษของปลาปักเป้า ซึ่งพิษปลาปักเป้าจัดเป็นพิษที่มีความรุนแรงกว่าพิษอื่นๆ ที่เกิดจากพืชและสัตว์ในทะเล โดยพิษชนิดนี้ ส่วนใหญ่จะพบตามท้องทะเลชายฝั่งตั้งแต่เขตปะการัง โขดหิน หญ้าทะเล น้ำกร่อย ปากแม่น้ำ เฉพาะปลาปักเป้าในแม่น้ำ ลำคลอง ทั้งนี้พิษของปลาปักเป้าขึ้นอยู่กับระยะเวลาของอวัยวะเพศในช่วงสืบพันธุ์ โดยทั่วไปเพศเมียจะมีพิษมากกว่าเพศผู้ แต่อวัยวะที่มีพิษของปลาชนิดนี้ จะอยู่ที่หนัง ตับ รังไข่ ทางเดินอาหาร และอาจรวมถึงเลือด เป็นส่วนที่มีเนื้อมากที่สุด ส่วนเนื้อแม้จะมีความปลอดภัย แต่ก็อาจมีพิษในบางครั้ง หรือบางโอกาส อย่างไรก็ตามการกลุ่มชาวญี่ปุ่น เกาหลี จีน ที่มักนิยมรับประทานเนื้อปลาปักเป้า เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญในการนำพิษออกโดยผ่านการรับรองจากทางการและมีใบอนุญาต รวมถึงมีวิธีการอย่างเป็นเข้มงวด
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความเชี่ยวชาญแต่ก็ยังคงมีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเนื้อปลาปักเป้า เพราะการทอด ตุ๋น หรือแม้แต่ ปิ้ง ที่ผ่านความร้อนก็ไม่สามารถลดความเป็นพิษของเนื้อปลาปักเป้าได้ เพราะยังไม่มีวิธีการใดที่จะตรวจสอบได้ว่าปลาปักเป้าที่นำมาบริโภคปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้นจึงควรเลี่ยงการนำมาบริโภค เพราะมีอันตรายถึงชีวิต แต่หากเลี่ยงไม่ได้ควรสังเกตุอาการ ตัวสั่น ปากซีด ชาที่ริมฝีปาก หรือลิ้น หรือมีอาการกระตุกที่นิ้วมือและเท้า ถ่ายท้อง หยุดหายใจ ซึ่งอาการแพ้พิษจะเริ่มต้นตั้งแต่ 10 - 15 นาที หรือ อาจจะถึง 3 ชั่วโมง
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
มีคำเตือนฝากบอกคือช่วงรังไข่ของปลาดังกล่าวมีพิษร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ ตอนนี้มีคำสั่งให้ทำลายทันที
อาจถูกนำไปใช้เป็นยาพิษได้