บิ๊ก ปตท.กระทุ้งรัฐประกาศขึ้นราคาก๊าซ "แอลพีจี" คาดภายใน 2-3 เดือน ต้องแบกภาระนำเข้าเต็มเพดาน 1 หมื่นล้าน และใกล้หมดภาระการขึ้นภาษีน้ำมัน รัฐต้องใช้กองทุนฯ เข้ามาอุ้มราคาก๊าซแทน พร้อมยอมรับ โครงสร้างราคาถูกบิดเบือนมาโดยตลอด หลังถูกรัฐบาลทักษิณจับแปรรูปเข้าตลาดหุ้น เพราะถูกมองว่าเป็นธุรกิจผูกขาด สามารถสร้างผลกำไรที่งดงาม
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงนโยบายให้ชะลอการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน ทำให้ ปตท.มีภาระการสั่งนำเข้าก๊าซเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าภายใน 2-3 เดือนนี้ ปตท.ต้องแบกรับส่วนต่างราคานำเข้าเต็มเพดานที่ระดับ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากในอนาคตมีการใช้เกินเพดาน ก็ต้องเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่าจะขยายเพดานเพิ่มอีกหรือไม่
"ผมมองว่า การขยายเพิ่มเพดานนำเข้า คงทำได้ลำบาก และหากว่า หมดภาระการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันแล้ว กระทรวงพลังงานต้องใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาบริหารหนี้ส่วนนี้ ยิ่งขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเร็ว ภาระของกองทุนน้ำมันก็ลดลงเร็ว"
นายประเสริฐ ยืนยันว่า ปตท.จะอุดหนุนภาระส่วนต่างการนำเข้าก๊าซหุงต้มแค่ 10,000 ล้านบาท หากเกินกว่านี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องของธรรมาภิบาลที่ต้องดูแลผู้ถือหุ้น และโครงสร้างราคาที่ผ่านมาผิดเพี้ยนไปมาก โดยราคาก๊าซหุงต้มหน้าโรงงานขายอยู่ที่ 19.25 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม แต่ ปตท.ต้องรับภาระนำเข้าที่กำหนดเพดานราคาไว้ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ต้องรับภาระ 9 บาทต่อกิโลกรัม ที่ผ่านมารับภาระไปแล้ว 8-9 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ถ้าราคาก๊าซหุงต้มต่ำเกินไป คนจะใช้มากขึ้น ทำให้กองทุนน้ำมันมีภาระมากขึ้น โดยคาดว่าปีนี้การนำเข้าจะใกล้เคียงปีก่อน 4-5 แสนตัน แต่ถ้ารัฐบาลใช้วิธีให้กองทุนน้ำมันฯ เข้าไปอุดหนุนต่อ ก็สามารถทำได้เหมือนในอดีตจนเป็นหนี้ 8-9 หมื่นล้านบาท สุดท้ายก็ไม่ไหว จึงควรพิจารณาโครงสร้างราคาให้เหมาะสมมากกว่า
ก่อนหน้านี้ มีการตั้งข้อสังเกตุมาโดยตลอดว่า ปตท.เป็นผู้ผลิตและผูกขาดก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ และมีแหล่งวัตถุดิบผลิตได้เองภายในประเทศ แต่ทำไมต้องสั่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ ในราคาแพง เพื่อเอามาให้คนไทยใช้ในประเทศ และถือเป็นข้อถกเถียงกันมาตลอด แต่ยังไม่มีการให้คำตอบที่ชัดเจน
ที่มา
http://www.manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?NewsID=9520000013247