กระทรวงแรงงานได้ข้อยุติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 16 ต.ค.นี้ (4/10/2007)
คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงาน จะได้ข้อยุติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 16 ตุลาคมนี้ อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ 65 จังหวัดเสนอปรับขึ้นตั้งแต่ 1- 8 บาท กทม.เสนอปรับ 7 บาท แต่อีสานและเหนือบางส่วนไม่ขอปรับ อ้างเห็นใจสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และต้องการให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา
นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ 65 จังหวัด ส่งตัวเลขการขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2551 มาที่กระทรวงแรงงานแล้ว ซึ่งมี 18 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ขอปรับค่าจ้าง ยกเว้นจังหวัดเลย และยังมีจังหวัดภาคเหนือส่วนหนึ่งที่ไม่ขอเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง ทั้งที่มีฐานอัตราค่าจ้างพื้นฐานต่ำที่สุดในประเทศ 143 บาท เช่น น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในช่วงชะลอตัวจึงไม่ต้องการทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของสถานประกอบการในพื้นที่ และต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณา
นายพนัส กล่าวอีกว่า ส่วนจังหวัดภาคใต้และภาคกลางมีเสนอขอปรับขึ้นตามปกติ แต่ยังมีอีก 11 จังหวัดที่ยังไม่มีการเสนอตัวเลขปรับขึ้นค่าจ้างเข้ามา ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2551 นี้ เป็นการเสนอตามคำของอนุกรรมการฯ จังหวัด มีตั้งแต่ 1-8 บาท ซึ่งจะมีการประชุมตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปผลในวันที่ 16 ต.ค.นี้ จากนั้นเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศมีผลใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2551 เบื้องต้นทราบว่า จ.สระแก้ว มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง 1 บาท ส่วน กทม.ขอปรับขึ้น 7 บาท แต่ถูกตัดให้เหลือ 2 บาท เนื่องจากอนุกรรมการจังหวัดเห็นว่าค่าจ้าง กทม.นั้นสูงอยู่แล้ว และเห็นว่าค่าจ้าง กทม.ที่เหมาะสมควรปรับให้อีกวันละ 4 บาท ซึ่งคงต้องมีการหารืออีกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับค่าจ้างในจังหวัดปริมณฑล เช่น จ.สมุทรปราการ ที่เสนอขอปรับขึ้น 6 บาท รวมถึง จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.เลย ขอปรับสูงสุดวันละ 8 บาท ส่วนจังหวัดที่เหลือเสนอปรับตั้งแต่ 3-7 บาท
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หากมีการปรับค่าจ้าง กทม.อีกวันละ 2-4 บาท ถือว่าไม่เพียงพอกับภาวะค่าครองชีพสูงที่คนงานประสบปัญหาอยู่ ที่สำคัญขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงานเตรียมประกาศขึ้นราคาสินค้าบางตัว เช่น น้ำปลา น้ำตาล และการประกาศลอยตัวราคาแก๊สหุงต้มในเดือนธันวาคมนี้ เท่ากับซ้ำเติมคนงานหนักขึ้นไปอีก จากที่เคยจ่ายเกินตัวก็ต้องบีบตัวเองมากขึ้น ดังนั้น คนงานจะอยู่ได้อย่างไร จึงคิดว่ารัฐบาลควรทบทวนนโยบายดังกล่าวด้วยการควบคุมสินค้า และเพิ่มค่าจ้างเป็นวันละ 233 บาท เพราะหากปรับแค่ 2-4 บาท จะต้องมีการเคลื่อนไหวแน่นอน
ที่มา : สำนักข่าวไทย