บทความโดย : ผศ.พญ.ดร.มยุรี หอมสนิท แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
ทราบไหมว่า การตรวจสุขภาพ สามารถบอกหรือทำนายได้ว่า ท่านกำลังหรือจะเป็นโรคอะไรในอนาคต
เนื่องจากการตรวจสุขภาพ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจคัดกรองหาโรคที่สามารถให้การรักษาได้ในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่แสดงอาการ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งการรักษาในระยะเริ่มต้นจะได้ผลดีกว่า และอาจช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ สำหรับประชาชนทั่วไป อาจแบ่งการตรวจสุขภาพตาม อายุเป็น 2 ระยะคือ 1. ผู้มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ควรตรวจร่างกายต่าง ๆ ดังนี้ การตรวจทั่วไป ได้แก่ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต สามารถคัดกรองโรคหรือภาวะบางอย่างได้ เช่น โรคซีด โรคความดันโลหิตสูง เสียงหัวใจผิดปกติ ตับม้ามโต ภาวะบวม ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน เป็นต้น
การตรวจนับเม็ดเลือด (Complete blood count, CBC) ช่วยในการตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง รวมทั้งอาจตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ เช่น เม็ดเลือดหรือเกร็ดเลือดผิดปกติ
การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) ช่วยตรวจคัดกรองโรคไตบางชนิด ที่ทำให้มี ปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีน น้ำตาล หรือสารอื่นๆ ในปัสสาวะ มีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือสิ่งผิดปกติอื่นๆ ในปัสสาวะ เป็นต้น
การตรวจอุจจาระ (Stool exam) ช่วยตรวจหาพยาธิในอุจจาระ
การถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest x-ray) ช่วยตรวจหาวัณโรค โรคปอดเรื้อรังบางชนิด หรือรอยโรคผิดปกติอื่นๆ ในปอด
การตรวจหามะเร็งปากมดลูก (Pap?s smear) เพื่อตรวจกรองหาโรคมะเร็งปาก มดลูกในหญิงที่มีเคยเพศสัมพันธ์ 2. ผู้มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ตรวจเช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี และตรวจร่างกายเพิ่มเติมดังนี้ การตรวจหามะเร็งปากมดลูก (Pap?s smear) สำหรับหญิงทุกรายไม่ว่าจะเคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม
การวัดระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting plasma glucose, FPG) ช่วยตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน
การวัดระดับไขมันในเลือด (Total cholesterol, Triglyceride) ช่วยประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีการตรวจ HDL-cholesterol ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีในเลือด หากตรวจหาจะสามารถบอกความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดียิ่งขึ้น
การวัดระดับกรดยูริค (Uric acid) ช่วยประเมินระดับกรดยูริคซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเกาต์หรือนิ่ว
การตรวจการทำงานไต (BUN, Creatinine) ช่วยประเมินการทำงานของไต
การตรวจการทำงานตับ (AST, ALT, Alkaline phosphatase) ช่วยประเมินการทำงานของตับว่าอยู่ในสภาพปกติหรือไม่ กรณีมีประวัติเสี่ยงในครอบครัว ที่มีบิดา มารดา สมาชิกหลายคนในครอบครัว หรือญาติพี่น้องเป็นโรค โดยเฉพาะเกิดในชายอายุน้อยกว่า 55 ปี และหญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี ควรรับการตรวจบางอย่างเพิ่มเติมดังนี้ โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือเป็นโรคไขมันในเลือดสูง อาจตรวจระดับไขมันในเลือดได้ถึงแม้อายุไม่ถึง 35 ปี
โรคมะเร็งเต้านม ที่มีก้อนในเต้านม ควรรับการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammography) เพิ่มเติม
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Stool occult blood) ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยทำการตรวจทุก 5 ปี
ผู้ที่ต้องการแต่งงาน นอกจากตรวจนับเม็ดเลือด ควรตรวจชนิดของโปรตีนฮีโมโกลบินในเลือด (Hemoglobin typing) เพื่อคัดกรองภาวะพาหะโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia trait) ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส (VDRL) ตลอดจนตรวจตับอักเสบจากไวรัสบี (Hepatitis B) และการติดเชื้อเอชไอวี (anti-HIV) นอกจากนี้ควรตรวจดูว่ามีภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมันหรือไม่ หากยังไม่มีควรฉีดวัคซีนป้องกัน เนื่องจากถ้าติดโรคในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกมีความพิการได้
ผู้ที่ต้องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ไม่ทราบประวัติการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนชัดเจน อาจตรวจหาเชื้อ และ/หรือ ภูมิต้านทานต่อโรคตามความเหมาะสม ได้แก่ ตับอักเสบบี (Hepatitis B ) ตับอักเสบเอ (Hepatitis A) หัด (Measles) หัดเยอรมัน (Rubella) คางทูม (Mumps) และสุกใส (Chickenpox)
แต่สำหรับผู้ที่มีสมุดบันทึกรับการฉีดวัคซีนในวัยเด็ก จะมีประโยชน์มากในการพิจารณาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามข้อกำหนด จึงควรเก็บรักษาบันทึกนี้ไว้ และนำมาแสดงให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์พิจารณาประกอบการตรวจหรือออกใบรับรอง
ผู้ที่ต้องการไปทำงานหรือศึกษาต่อต่างประเทศ ต้องตรวจตามข้อกำหนดของบริษัท สถาบัน หรือองค์กรนั้นๆ ซึ่งอาจมีข้อกำหนดเรื่องการฉีดวัคซีน การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคบางโรค หรือตรวจปฏิกิริยาภูมิไวเกินต่อวัณโรค ซึ่งผู้ตรวจสุขภาพต้องติดต่อขอรายละเอียดจากสถาบันที่ต้องการทำงานหรือศึกษาต่อเช่นกัน สรุป แม้ผลการตรวจสุขภาพจะดีหรือไม่ ก็ควรใส่ใจในเรื่องอาหาร กินอย่างถูกต้องเหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดต่าง ๆ เช่น บุหรี่ สุรา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง และหากพบสิ่งผิดปกติใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะต้น ๆ จะทำให้การรักษาโรคได้ผลดีกว่า และมีโอกาสหายหรือควบคุมได้มากกว่าที่จะปล่อยให้ป่วยมากจึงมาพบแพทย์ ที่มา ผู้จัดการออนไลน์