เอามาฝาก ข้อความคนอื่นก็อปมาให้ครับขออนุญาตเจ้าของข้อความ
การซื้อรถบ้านใช้แล้ว หรือรถมือสองนั้น ถ้าเรามีความละเอียดรอบคอบเพียงพอในการเลือกซื้อ ไตร่ตรองถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจซื้อ ก็จะทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นว่าซื้อแล้วได้ใช้งานคุ้มค่า ผมเองก็เป็นอีกคนที่เลือกใช้รถมือสอง อาจเป็นเพราะสตางค์ในกระเป๋ามีจำกัด อีกทั้งไม่อยากเป็นภาระมานั่งผ่อน ทุกเดือน รถที่ผมใช้ก็ ถือได้ว่าตอบสนองเราได้เป็นอย่างดีเพียงแต่เราดูแลบำรุงรักษารถให้ดี ก็ใช้ไปได้อีกนาน ขนาดที่คิดได้ว่าจะไม่ยอมขายจะใช้ให้พังคามือเลย เป็นธรรมดา สำหรับรถดี ๆ ไม่จุกจิกกวนใจ กวนเงินในกระเป๋าเรา ทีนี้เรามาดูว่ารถมือสอง ที่เราจะซื้อมีวิธีการเลือก คร่าว ๆ อย่างไร ผมเองต้องขอออกตัวก่อนว่าไม่ใช่เซียนรถหรือพ่อค้ารถ ที่เก่งกาจในการดูรถ เพียงแต่รุ่นพี่ ๆ อาจารย์หลายท่านแนะนำ สอนให้ดู ก็พอเอาตัวรอดได้ พอแนะนำเป็นแนวทางได้บ้าง ขอย้ำ ได้บ้างเท่านั้นนะครับ โดยผมจะแยกเป็นหัวข้อ ๆ เพื่อให้ง่ายในการจดจำครับ
1. ดูตัวถัง body
รถสวยไม่สวยดูภายนอกรอบคัน ก็พอบอกได้ แต่จะดูให้ถึงว่าเคยชนมาหนัก ๆ มั๊ย ก็ต้อง
- เปิดฝากระโปรงหน้ามาดูคานหน้า คานรถทุกคันจะมีรู กลมบ้าง เหลี่ยมบางแล้วแต่ ถ้ารูเบี้ยว ไม่คมก็แสดงว่ามีโดนมา
- ป้ายทะเบียนรถยับมีรอยดัด ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเคยโดนมา แผ่น plate ที่แปะติดคานมา มีรอยยับหรือดัดมาก็เช่นกัน
- สันด้านข้างตะเข็บความนูนเสมอกันหรือไม่ รอยอ๊าค จากโรงงานกับอู่เคาะพ่นสีก็ต่างกัน
- สำหรับด้านหลัง ก็เปิดฝากระโปรงดูเช่นกัน ไฟท้ายทั้ง 2 ดวงเสมอเบ้าหรือไม่ รอยแยกต่อชิ้นเว้นช่องไฟเท่ากันเปล่ามีเบี้ยวมีเกยกันมั๊ย คานหลังก็ใช้ลักษณะการสังเกตุเหมือนคานหน้าเพียงแต่ต้องลื้อพรมปูท้ายรถออกเพื่อให้เห็นพื้น
- พื้นรถด้านหลังโดยมากจะเป็นรอน ๆ ก็สังเกตุดูว่าเท่ากันหรือเปล่า รถบางคันโดนชนหลังมาช่างเคาะทำดีมากดูแทบไม่ออก มาเสียอีตอนน้ำเข้าตรงไฟท้ายเข้าได้แต่ออกไม่ได้ซะด้วยสิ ต้องเช็ด มีบางคันเศษกระจกหลังยังอยู่ให้เห็นเลยครับ
- ส่วนด้านข้าง ก็ดูเทียบสี จากโรงงานสีเดิม กับอู่สี สีจะเพี้ยนนิดหน่อยแต่ก็พอเห็น ผมใช้วิธีเคาะ ด้วยมะเหง็กของเรานี่แหละ เคาะรอบคันเลยรถ ที่ทำสีมาแล้วเสียงจะทึบ ๆ หน่อย ชิ้นที่สีเดิมจะมีเสียงโปร่ง ๆ หน่อยฟังดีดี จะรู้ถึงความต่าง อันนี้ไม่ยาก
- รถที่เคยหงายตะแคงล้อชี้ฟ้า ก็ดูหลังคารถเคาะ ๆ ดู สังเกตุขอบคิ้วกระจกหน้าหลัง เหมือนกันเปล่ามีรอยแตกของสีโป๊วมั๊ย หลังคาสีสดสวยกว่าประตูข้าง ก็เป็นเรื่องน่าแปลกเพราะเป็นส่วนที่รับแดดเต็ม ๆ แต่ช่างเคาะ ช่างสีบ้านเราฝีมือดีมาก ทำได้เนียนเซียนในเต็นท์ยังมองไม่ออก ฝรั่งยกนิ้วให้ 2 นิ้ว งานฝีมืองานประณีตคนไทยเก่งกาจม๊าก มาก ขอบอกครับ
2. เครื่อง + ช่วงล่าง + เกียร์
- เครื่อง ถ้าเครื่องมีปัญหา หรือ หลวม จะเป็นอย่างนี้ เสียงดัง ไม่นิ่งรอบสูงบ้างต่ำบ้าง ไม่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกันเปล่าหว่า เวลาเครื่องร้อนเรา ก็ดูก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องออกมา จะมีควันพุ่งออกมา หรือ น้ำมันเครื่องจะกระเซ็นกระสายเป็นละอองออกมาเอามือไปอัง ๆ ดูก็ได้ไม่ร้อนเท่าไหร่หรอกน่า เชื่อเถอะ
- เกียร์ ชุดส่งกำลัง คลัชต์ ถ้าเข้าเกียร์ ออกตัวแล้วสั่น แหงก ๆ กระตุก ๆ เข้าเกียร์ก็ยาก นั่นแหละมีปัญหา วิ่งๆ ไปมีเสียงประสาน หอนแหวกอากาศมาเข้าหูเรา เวลาเข้าเกียร์ว่าง รถจอดนิ่งๆ ไม่ยักกะดังก็นั่นแหละ เกียร์ไปแล้วไปไหนไม่รู้ ไปหาช่างมั้ง เกียร์ auto ก่อนเข้าเกียร์เหยียบเบรคคาไว้ เข้าเกียร์ตำแหน่ง D ไม่กระตุกกระชากก็พอได้เปราะหนึ่ง เข้าตำแหน่งเดิม N แล้วไป R ก็ไม่มีอาการอะไรก็แสดงว่าผ่านไปได้แล้ว 70 % มาลองวิ่งดูว่าเกียร์ทำงานทุกเกียร์เปล่า ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ 2 เกียร์อันนี้เสร็จแน่ ออกตัวก็เช่นกัน ออกตัวดีมั๊ย ถ้าต้องรอสักพักถึงเคลื่อนตัวได้แสดงว่ามันจะแย่อยู่นะ
- ช่วงล่าง ผม test ไม่เหมือนชาวบ้านเขาหลอก เวลาขับไปเจอฝาท่อ เจอถนนคอนกรีตที่กร่อน มีหลุม บ่อเล็กๆ นั่นแหละชอบลุยเข้าไปเลย เดี๋ยวเสียงกรุ กระ จะปรากฏถ้าไม่แน่น หรือ อาจสะท้านมาถึงพวงมาลัยเลยก็มีแต่อย่าเร็วมากนะอาจเสียงตอนที่เรา test ก็ได้นะเคยมาแล้ว ขอบอกครับ ต่อไปเป็นเบรค และ สภาพยาง บางท่านไม่สนใจเพราะซื้อปุ๊บ เข้าร้านเปลี่ยนของใหม่เลย แบบว่าปลอดภัยไว้ก่อนว่างั้นก็ ok ชัวร์ดี ชีวิตเรานะอย่างว่า ประมาทได้ที่ไหน ได้ไม่คุ้มเสียเลย ผมเคย เสียหายมาก เพราะมัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง นั่นเอง
3. ภายในห้องโดยสาร
- กลิ่น ถ้าเปิดรถปุ๊บ สิ่งแรกที่กระทบจมูกโด่ง ๆ ของเราคือกลิ่นอับ ๆ ชื้น ๆ แสดงว่าน้ำเข้ารถ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งอัดฉีดมานะ ฮึ่ม ง่ายต่อการดูมากเลย เอายางปูพื้นออก ดูว่าพื้นพรมมีรอยชื้นของน้ำเปล่า บางคันพื้นผุแบบทะลุง่ะ เปิดมานี้ เห็นพื้น ถนนเลย ดูหมดนะทั้ง 4 จุด พื้นผุนี่อันตรายนะ ขับๆ อยู่ตัวหล่นพรั้ว ไปนั่งอยู่กับพื้นถนนละยุ่ง (ล้อเล่นไม่ขนาดนั้นหรอก)
- ดูความเรียบร้อย คอนโซล แตกมั๊ย แต่ว่าไม่ได้ พลาสติกน่ะ รถเก่ามาก ๆ ไม่แตกอย่างเดียวมันเหมือนจะละลายเลยเคยเห็นมาแล้ว ช่องแอร์สมบูรณ์เปล่า ซ่อมยากนะช่องแอร์เนี่ย เก่ามาก ๆ ไม่มีอะไหล่เน้อ จะบอกให้ เจ้าของเก่าจะอ้างว่าลูกซนชอบเล่นช่องแอร์ เออมันก็จริงทำไมเด็ก ๆ ชอบเล่นจังไม่รู้
- แอร์ ดูอย่างนี้นะ เอ้าดู เปิดแอร์ เบอร์ 1-4 เลยมันไล่ระดับความแรงหรือเปล่า แรงลมสำคัญจะบอกได้ว่าตันหรือเปล่า ล้างแอร์สมัยนี้แพงด้วยนะหลายร้อย พันกว่าก็มีแบบไม่ถอดตู้ เปิดทิ้งไว้แล้วออกไปเดินดูรอบ ๆ รถ 5-6 ชั่วโมง ไม่ใช่ 5นาทีพอ แล้วเดินเข้าไปในรถก็จะรู้ว่าฉ่ำ หรือ ไม่ฉ่ำ มีเสียงอะไรดังผิดปรกติหรือเปล่าแอร์ตัดตามปกติมั๊ย ก็เท่านั้น
การดูรถถ้าครบถ้วนตามกระบวนการอาจใช้เวลามากสักหน่อยแต่ก็คุ้ม รถยนต์นะครับราคาเป็นแสน ไม่ใช่จักรยาน ถ้าครบถ้วนตาม ที่หนูเอ้ย ผมแนะนำก็ น่าจะได้รถที่พอใช้ได้ในระดับหนึ่งแล้วน่ะ การซื้อรถมือสอง ต้องเตรียมเงินอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อถ่ายเปลี่ยนของเหลวในรถออกให้หมด เพื่อเริ่มทำการจดบันทึกใหม่ ทั้ง เลขกิโลเมตรและวันที่ว่าเราทำอะไรไปบ้างกับรถคันนี้เมื่อไหร่ เท่าไหร่ book service ที่เราทำขึ้นเอง มีประโยชน์มากมากเลยครับ เวลาขายต่อเอาให้คนที่จะซื้อดู โอโหเครดิตมาอีกบานเลย เราละเอียดขนาดนี้เขาชอบแน่นอน รถบางคันเจ้าของน่ารักมากครับ บอกหมดเลยเคยชนตรงไหนมา อะไรเพิ่งเปลี่ยน เปลี่ยนที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่อความสบายใจในการขาย บรรยากาศก็ดูดีด้วย บริสุทธ์ใจไม่ซื้อไม่ว่า ขายไปแล้วมีปัญหาโทรมาปรึกษาได้อีกต่าง ผมเคยเจอกลายเป็นเพื่อนกันก็มีเยอะ คุณลองไปซื้อรถเต็นท์ดูสิ คนขายบางคนสาธยาย สรรพคุณรถเก่าซะดีเลิศประดุจดั่งรถป้ายแดงก็ไม่ปาน ไม่มีจุดเสีย จุดเสื่อมเลยเป็นไปได้มั๊ยล่ะครับ (โอ้ให้ตายเถอะจอห์น ผมไม่อยากเชื่อเลย) ว่ามายาวมากแล้วครับ
นี่อีกเมื่อซื้อมาแล้ว
เครดิต : คุณคนใช้รถมือเก่า
เมื่อคุณเก็บหอมรอมริดได้เงินครบจะไปดาวน์รึซื้อสดรถคันโปรดมาแล้ว บางทีอาจเป็นรถคันแรกของบ้านคุณ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป บทความนี้จะบอกให้ทราบว่ามือใหม่(แต่)รถไม่ใหม่นั้น ควรจะทำอย่างไรบ้างเมื่อคุณขับคันนี้กลับมาที่บ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
1. ทำความรู้จัก
อย่าตกใจว่าทำความรู้จักกับใคร ไม่ใช่ช่างซ่อมหรือคนขายคนสวยแน่นอน แต่ที่ต้องรู้จักก็คือรถของคุณนั่นเอง สิ่งที่คุณต้องรู้จักดังต่อไปนี้
- รุ่นของรถ/ปี บ่อยครั้งที่เราไปซื้ออะไหล่รถเองแล้วถ้าเราไม่รู้ชื่อรุ่นที่แม่นยำเกิดปัญหาแน่นอนอย่างเช่น เพราะรถชื่อรุ่นเดียวกันแต่อาจใช้เครื่องยนต์ต่างกันก็มีไม่น้อย เรื่องอย่างนี้ถือเป็นเรื่องหญ้าปากคอกที่ทำให้เจ้าของรถที่เรียกตัวเองว่าเซียนเหงื่อแตกมาหลายคนแล้ว เวลาไปซื้ออะไหล่รถที่ตัวเองขับอยู่ทุกวัน
- เครื่องยนต์ คุณควรรู้ขนาดซีซีของเครื่องยนต์และจำนวนวาวล์ ชื่อบล็อกของเครื่องยนต์ของรถคุณ เช่นใช้มิตซู-แลนเซอร์ บล็อก 4G63 ตัวเลขเพียงไม่กี่ตัวกลับบอกความแตกต่างของรุ่นได้มากมาย ถ้าไม่รู้เปิดฝากระโปรงรถดูส่วนใหญ่จะมีเขียนรายละเอียดเอาไว้ บางคนเถียงว่าดุจากคู่มือรถก็รู้ แต่ก็ทราบกันดีว่าคู่มือการใช้รถนั้นน้อยนักที่จะตกมาถึงมือของเจ้าของรถมือสองมือสามอย่างเราๆ
- จุดวัดระดับน้ำมัน-น้ำยาต่างๆ คุณต้องรู้ว่าอันไหนเป็นจุดวัดระดับน้ำมันเครื่อง น้ำมันพวงมาลัยพาวเวอร์ น้ำมันเบรก น้ำยาแอร์ หม้อน้ำรถ หม้อพักน้ำ น้ำฉีดกระจก น้ำกลั่นแบตเตอรี่ ฯลฯ อย่างน้อยเราต้องรู้ว่าจะวัดระดับตรงไหนอย่างไร มีรุ่นน้องที่ทำงานชอบถกเถียงเรื่องรถกับผมบ่อยๆ เมื่อสัปดาห์ก่อนได้ซื้อรถมือสองมาใหม่คุยเรื่องระบบต่างๆของรถราวกับท่องมาซะยืดยาว แต่เปิดฝากระโปรงรถให้ผมดู ก่อนจะถามว่าที่ดูระดับน้ำมันเครื่องมันอันไหนกันแน่อันนี้อาการหนักจริงๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือ
- ดูระดับน้ำมันเครื่องตรงไหน Max ? Min
- เติมน้ำหม้อน้ำตรงไหน ควรเติมในหม้อพักและไม่ให้มากไปนักที่สำคัญควรเปิดน้ำที่หม้อน้ำดูด้วยว่าเต็มรึเปล่าที่สำคัญต้องไม่ทำตอนเครื่องร้อนอันตราย
- ดูระดับน้ำกลั่นแบตเตอรี่ ต้องเปิดดูทุกช่องเติมไม่ต้องล้นเพียงแต่เติมให้พอดีกับพลาสติคที่เป็นลิ้นลงไปในช่องก็เพียงพอแล้ว ห้ามอย่าเติมจนล้น
- ดูระดับน้ำฉีดกระจกด้วย ถ้าแห้งจะทำให้ปั้มฉีดน้ำเสียหายได้ อันนี้บอกให้ลูกๆมาช่วยเติมได้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
- ดูระดับน้ำมันพวงมาลัยพาวเวอร์เป็น บางรุ่นไม่ต้องเปิดฝาก็รู้สามารถดูได้จากข้างกระปุกมีขีดบอกระดับ มีคำเตือนเล็กน้อยอยู่บริเวณฝาอ่านบ้างก็ดี
- ดูระดับน้ำมันเบรก บางครั้งไม่ต้องถึงกับเปิดฝามาดูเพราะมีขีดบอกสามารถมองเห็นจากภายนอกเช่นกัน
- ดูระดับน้ำยาแอร์ ดูจากกระปุกพักน้ำยาแอร์สังเกตกระปุกที่มีท่ออะลูมีเนียมรึทองแดงต่อเข้านั้นแหละมีเลนซ์ สังเกตถ้าน้ำยาแอร์เต็มเราจะไม่เห็นว่ามีอะไรในเลนซ์นั้นเลยแต่ถ้าเมื่อไหร่เห็นในเลนซ์นั้นมีน้ำวิ่งๆเมื่อไหร่ อย่าคิดว่าน้ำยาแอร์เต็มนะครับนั้นคือน้ำยาแอร์หมดแล้วละครับ ไปร้านแอร์ให้ตรวจเช็คเลย
2. เปลี่ยนซะให้เรียบ
- น้ำมันเครื่องและใส้กรองน้ำมันเครื่อง บ่อยครั้งรถจากเต็นท์นั้นเค้าไม่ได้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องมาให้ บางครั้งพึ่งเปลี่ยนมาถือว่าเป็นโชคดีไป แต่ถ้าให้ดีถ้าเราดึงสายวัดออกมาแล้วน้ำมันเครื่องเหนียวๆ ไม่หยดติ๋งๆ เปลี่ยนไปเถอะครับเพื่อความสบายใจ ถ้าเปลี่ยนแล้วขับรถกลับบ้านมาดึงเข็มวัดออกมาเห็นน้ำมันเครื่องทำไมขุ่นซะแล้วให้คุณดีใจไว้เลยว่าน้ำมันเครื่องนั้นดีเพราะสามารถดึงเขม่าที่จับกับชิ้นส่วนในเครื่องออกมาได้เป็นอย่างดี รวมถึงเปลี่ยนใส้กรองน้ำมันเครื่องด้วยไม่แนะนำไปใช้ใส้กรองจากปั้มเพราะสมัยนี้ใส้กรองของเทียมมีเยอะอายุการใช้งานสั้นกว่า (ไม่ใช่ว่าใช้ไม่ได้) ใครรักรถมาแนะให้ใช้ของแท้แต่ผมชอบใช้ของเทียบเพราะมีคุณภาพพอๆกันและอาจดีกว่าด้วยซ้ำไป ว่างๆผ่านไปแถววรจักรก็ไปซื้อซะ ถือว่าเป็นการหัดทำความรู้จักกับร้านอะไหล่ไว้ ดูด้วยว่าต้องแถมแหวนยางโอริงมาด้วยแต่อย่าไปคิดว่าเอามาใช้กับกรองน้ำมันเครื่องล่ะ โอริงนี้ไว้ใช้กับน็อตที่เป็นก๊อกปิด-เปิดอ่างน้ำมันเครื่องของเราต่างหาก เวลาให้ช่างใส่ดูกับเค้าด้วย ก่อนใส่แนะว่าให้เอาน้ำมันเครื่องเรานี่แหละทาขอบยางของกระปุกกรองด้วยกันยางเบี้ยวออกมาเวลาขันเข้า
- ใส้กรองอากาศ ส่วนใส้กรองอากาศก็เป่าซะ แนะให้เป่าเองตามปั้มเจ็ทที่มีที่เป่าอากาศตรงที่เราเติมลม มีหลายคนขับรถมาจนแก่เป่าอากาศยังไม่เป็น การเป่ากรองอากาศต้องเป่าจากในออกนอก ห้ามเป่าจากข้างนอกเข้าในเด็ดขาด ถึงแม้เป่าแล้วฝุ่นกระจายดีแต่นั้นคือการทำให้กรองอากาศของเราตันไปเลย แต่ถ้าเก่าแล้วเปลี่ยนไปเลยซักอันได้เลยไม่ได้แพงอะไรนัก สำหรับมือใหม่ระวังจะถอดไม่เป็นให้สังเกตสลักยึดให้ดี ดึงออกให้ครบไม่ต้องออกแรงมากนักพอประมาณเดี๋ยวพวกสายอากาศจะหลุดแล้วใส่กลับไม่ถูก
- ใส้กรองเบนซิน สุดท้ายใส้กรองเบนซินอันนี้แนะนำให้เปลี่ยนเลยไม่กี่ตังค์ จะได้ไม่ต้องมาโอดครวญภายหลังว่ารถเร่งไม่ขึ้น กระตุกเป็นช่วงๆ แต่อันนี้แนะนำไปให้ช่างเปลี่ยนให้ อย่าลืมถามความรู้เล็กๆน้อยๆจากช่างด้วยตามที่ผมว่ามาหากยังสงสัย เห็นมั้ยว่านอกจากจะได้เปลี่ยนกรองเบนซินแล้วยังได้ความรู้อีกต่างหาก
3. ตรวจอะไรที่มันยุ่งๆที่ห้องเครื่องอีกที
ลองตรวจดูที่สายพานไดฯ สายพานแอร์ สายหัวเทียน หัวเทียน ให้ช่างคนที่เปลี่ยนกรองเบนซินเราเมื่อสักครู่นั้นแหละดูให้ คิดดูว่าเปลี่ยนกรองเบนซินอันเดียวได้ประโยชน์มากมาย หากสายพานอันไหนเก่าหมดสภาพแล้วเปลี่ยนซะมีราคาไม่ถึงร้อยถึงร้อยกว่าบาท แต่แพงกว่านั้นไปร้านอื่นเหอะ สายหัวเทียนเก่ารึเปล่า หากเก่ามากๆขาดแล้วพันๆเทปมาละก็เปลี่ยนไปเลย ให้เค้าเช็คหัวเทียนด้วยเพียงแต่เอามาล้างปรับเขี้ยวก็พอใช้ได้อีกนาน หัวเทียนไม่ใช่ของเสียง่าย หมดอายุง่ายอายุการใช้งานราว 20,000 กม. ( 2000 กม.) หากเจอช่างที่ดี แต่ถ้าเยินจริงๆเปลี่ยนก็ได้เพราะราคาถูกมากๆ ตัวเราเองก่อนกลับบ้านแวะไปตามห้างซื้อน้ำอเนกประสงค์มาติดรถไว้ก็ดีไว้ฉีดพวกขั้วแบตฯ ขั้วหัวเทียน จานจ่าย(ถ้าไม่รู้จักว่าอันไหนไปถามช่างคนเดิมอีกนั่นแหละ) เวลาเก็บอย่าเอาไปไว้ที่ร้อน เกิดตูมตามขึ้นมาไม่รู้ด้วย
4. คราวนี้มาดูที่ช่วงล่างกันบ้าง
- ถ่วงล้อ อันนั้นถือว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่หลายคนมองข้ามเพราะเมื่อเราใช้ความเร็วสูงขึ้นหน่อยรถกลับสั่นๆ อาจนึกไปถึงช่วงล่างอื่นๆ แต่ความจริงปัญหามันแค่เพียงถ่วงล้อเท่านั้นเอง ผมแนะให้ไปถ่วงล้อที่เรียกว่า ?ถ่วงจี้? เพราะเท่าที่ทำมาได้ผลดีพอสมควร ดีกว่าการถอดล้อไปถ่วงข้างนอก สังเกตด้วยว่าบางครั้งน็อตล้อเราอาจเป็นคนละแบบทำให้การถอดล้อไปถ่วงไม่แม่นยำแต่ถ้าให้ดีก็เปลี่ยนน็อตให้มันเหมือนกันให้หมดเลยจะดีกว่า ก่อนถ่วงบอกให้ช่างแกะหินที่ติดล้อออกให้ด้วยนี่ก็เป็นผลให้การถ่วงล้อไม่แม่นยำ แนะให้ไปถ่วงหลังไปล้างรถจากปั้มใหม่ เพราะโคลนที่ติดล้อก็เป็นอีกปัจจัยนึงเช่นกัน เคยแนะให้รุ่นน้องที่มีปัญหาที่ว่าไปถ่วงจี้มาหลายคนส่วนใหญ่จะบอกว่ายังกับได้รถใหม่มาแน่ะ
- ยางรถ ดูว่าดอกยางยังเต็มๆดีหรือไม่ ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเปลี่ยนถามจากร้านยางดูก็ดีถ้าร้านที่ดีบ่อยครั้งเค้าจะบอกว่าใช้ได้อีกนานแต่ถ้าเค้าบอกว่าเปลี่ยนเถอะให้สังเกตว่าดอกยางเรายังเต็ม ยางยังไม่เสียรูป แก้มยางยังสวย เนื้อยางยังสดอยู่หรือไม่ ไม่แนะนำให้ไปทำตามปั้มแต่ก็ตามใจหากใครอยากลองดู การเติมลม ควรเติมซัก 27-28 หากอยากได้ความนิ่มนวลและ 30 หากต้องการประหยัดน้ำมันได้อีกนิดหน่อยในการวิ่งแบบรถไม่ติด อย่าลืมเติมลมยางอะไหล่ด้วยแนะให้เติมเกินปกติไว้ 2 ปอนด์ (ประมาณ 32 ปอนด์) เพราะไม่ได้เติมบ่อยๆ แนะอีกนั้นแหละให้ไปเติมที่ปั้มเจ็ทเพราะเครื่องวัดแบบดิจิตัลค่อนข้างแม่นยำกว่าร้านยางซะอีกและอย่าลืมอุดหนุนเค้าบ้างก็ดี
- เช็คช่วงล่าง ไปอู่ที่รับทำช่วงล่างให้เค้ายกรถตรวจพวก ยางหุ้มแร็คช่วงล่างอื่นๆ เพราะบางครั้งเปื่อยๆแล้วเปลี่ยนไปเลยราคาไม่ถึง 300-400 บาท ถ้าขาดขึ้นมาแต่เราไม่รู้จะลำบาก ทั้งทรายทั้งโคลนหลุดเข้าไปละก็เสียมากกว่านี้อีกมาก ให้ช่างตรวจลูกหมาก-คันชัก-คันส่ง-ปีกนก โยกๆแล้วหลวมๆหรือไม่แต่พวกนี้ถ้าไม่หลวมมากเอาไว้ตอนได้โบนัสออกหรือกู้สหกรณ์ได้ก่อนค่อยมาเปลี่ยนก็ได้ หากยังพอใช้ได้
5. มาดูภายในรถกันบ้าง
- หากรถมีกลิ่น แนะนำว่าให้เราจอดรถตากแดดหมุนกระจกลงมาเล็กน้อยทำซ้ำๆหลายวันช่วยได้บ้าง หาน้ำหอมมาใส่รถบ้างบางทีไม่เหม็นโดนเหงื่อเราไปซักพักจนกลิ่นติดเบาะ สงสารคนมานั่งรถเราบ้าง แนะนำอย่าสูบบุหรี่ในรถเพราะเขม่าจากบุหรี่กับกำมะหยี่ทั้งหลายในรถเรารักกันมากทั้งสีทั้งกลิ่น
- ยางรองพื้น บางทีเต็นท์ให้มาเฉพาะยางแผ่นเล็กทำให้ทรายกระจายฝังในพรม แนะให้ใช้ยางที่เป็นรูปแอ่งๆ ไม่สวยนักแต่สะอาดอย่าบอกใครไม่มีทรายกระเด็นออกด้วยหรือถ้ากำลังทรัพย์มีก็เอาแบบที่มีขายตามห้างที่มีเฉพาะรุ่นก็ได้
- น้ำยาต่างๆ หาซื้อน้ำยาต่างๆเช่นแชมพูล้างรถ ยาขัดเบาะ ยาขัดสีรถ หัดทำเองบ้างจะได้รู้จุดอ่อนของตัวถัง-สีรถเราเอง
- เสียงดังหน้าคอนโซล อันนี้สืบเนื่องาจากรถใช้มาหลายปีเกิดจากการเคยถูกถอดคอนโซลเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง แต่การหาจุดนี่ยากที่สุดพวกนี้ต้องค่อยๆหาแล้วหาซื้อตัวยึดพลาสติคตามวรจักรมาใส่แทนได้หากของเก่าแตกหรือหลวมรึไม่มีเลย
6. สังเกตกันบ้าง
- ซื้อรถมาวันแรกผมแนะนำให้ล้างเลยไปให้โดนน้ำฉีดแรงๆ ตามคาร์แคร์ ถึงแม้เต็นท์จะขัดสีรถมาสวยงามสักปานใด เพราะรถหลายคันพึ่งไปสาดสีมาทั้งคัน การประกอบขอบยางกันน้ำซีลซิลิโคนประตูและกระจกหน้า-หลังต่างๆ อาจทำมาไม่ดีพอเพราะทำเองในอู่สีไม่ได้ทำที่ร้านกระจกที่ชำนาญกว่าบ่อยครั้งที่น้ำไหลเข้ารถเป็นถังๆ เวลาฝนตกจะได้รีบซ่อมเองหรือให้เต็นท์ทำให้หากตกลงกันไว้แล้ว
- แอร์ หากได้ยินเสียงแต็กๆ ดังติดๆกันขณะเปิดแอร์ทำให้รอบเครื่องเราขึ้นๆลงๆ ให้ช่างเช็คดูช่างที่เก่งๆ จะยังไม่วิ่งไปดูที่คอมแอร์ แต่จะตรวจที่ตัวปรับระดับความเย็นที่ภาษาช่างแอร์เรียกรางเลื่อน (Slice volume) เพราะรถเก่าแล้วพวกนี้จะสึกรึหมดอายุเปลี่ยนซะราคา 300-400 บางทีไม่ถึงกับต้องไปยุ่งกับคลัชแอร์หรอกครับ ร้านทำแอร์ผมชอบร้านที่แท็กซี่เค้าชอบไปทำกันเพราะราคาไม่แพงคุยกันได้ แต่ไม่ใช่ร้านที่แท็กซี่ไม่เข้าไม่ดีนะครับ อย่างผมใช้ทั้งสองร้านเพราะที่เจอความชำนาญร้านอาแปะของผมเนี่ยเก่งเข้าขั้นเลยทีเดียวแต่ราคาเอาเรื่องเหมือนกันเวลาเข้าซ่อมถามไว้เลยว่าเท่าไหร่ ต่อไปเถอะลดได้นิดหน่อยดีกว่าไม่ลดเลย ซ่อมบ่อยๆ ชำนาญขึ้นเดี๋ยวก็รู้ราคาไปเอง
- ตรวจดูหลอดไฟรถ ไฟหน้าสูง-ต่ำ ไฟหรี่ ไฟท้าย-ไฟเบรก ไฟกระพริบซ้ายขวา ไฟถอย ไฟทะเบียน ติดครบหรือไม่จัดการให้เรียบร้อยสมบูรณ์
หากมีอะไรนอกเหนือจากนี้ต้องเช็คต้องเปลี่ยนคงต้องอาศัยการเอาใจใส่ และความช่างสังเกตจากตัวคุณเอง ย้ำต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอไม่ใช่แค่เพียงช่วงแรกๆเท่านั้น หมั่นหาความรู้เสมอๆควรให้คนในครอบครัวมีส่วนร่วมด้วย สร้างความสัมพันธ์กันโดยมีรถเป็นสื่อนี่ก็ถือว่ารถไม่ใช่แค่เพียงเป็นพาหนะอย่างเดียวใช่มั้ยละครับ
ขอให้โชคดีกับรถใหม่นะครับ